Wednesday, September 4, 2013

ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ปี 2556 ต่อลมหายใจ 68 ภูมิปัญญา​(ៗ(ថៃ៖ដាក់បញ្ចូលមរតកភូមិបញ្ញាផ្នែកវប្បធម៌ជាតិឆ្នាំព.ស.2556 បន្តដងហើមនៃ68ភូមិបញ្ញា)

  กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิธี ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี 2556 ด้วยตระหนักว่ามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่เป็นวิถีการดำเนินชีวิตดั้งเดิม เช่น ภาษา วรรณกรรม การละเล่น หรือองค์ความรู้ต่างๆ ในท้องถิ่น กำลังเสี่ยงต่อการสูญหาย และถูกคุกคามจากกระแสต่างๆ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรม 
    โดยการประกาศขึ้นทะเบียนครั้งนี้มีจำนวนทั้งหมด 17 ชุมชน ประกอบด้วยกัน 7 สาขา จำนวน 68 รายการ ดังนี้ สาขาศิลปะการแสดง วงปี่จุ่ม, วงมังคละ, วงมโหรี, ลำตัด, อีแซว, แคน, พิณ, สรภัญญะ, เพลงบอก, เพลงเรือแหลมโพธิ์, กรือโต๊ะ, ฟ้อนเล็บ, รำประเลง และลิเกป่า สาขาช่างฝีมือดั้งเดิม ผ้าทอไทยพวน, ผ้าขาวม้า, ตะกร้อหวาย, ขัวแตะ, ตะกร้อหวาย, เครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว, ฆ้องบ้านทรายมูล, ประเกือมสุรินทร์, งามคร่ำ, หัวโขน และบายศรี สาขาวรรณกรรมพื้นบ้าน เจ้าแม่เขาสามมุก, ปัญญาสชาดก, ตำนานกบกินเดือน, ตำนานเจ้าแม่ลิมกอเหนี่ยว, นิทานตากะยาย, นิทานก่องข้าวน้อยฆ่าแม่, บทเวทนา, ผญาอีสาน และตำนานพรหมชาติ สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย กาฟักไข่, หนอนซ้อน, ซีละ, มวยโบราณสกลนคร, มวยตับจาก, มวยทะเล สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล ประเพณีตักบาตรเทโว, ประเพณีบุญบั้งไฟ, การละเล่นผีตาโขนในงานบุญหลวง จ.เลย, ประเพณีกวนข้าวทิพย์, พิธีโกนจุก, พิธีบายศรีสู่ขวัญ, ทำขวัญนาค, ประเพญีลงเล, ประเพณีกองข้าวศรีราชา จ.ชลบุรี และประเพณีแห่พญายม บางพระ จ.ชลบุรี สาขาความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล อาหารบ้าบ๋า, กระยาสารท, ขนมเบื้อง, ข้าวยำ, ข้าวหลาม, ยาหม่อง, คึฉื่ยของกะเหรี่ยง, ข้าวหอมมะลิ และปลากัดไทย สาขาภาษา ภาษาเลอเวือะ, ภาษาโซ่ (ทะสืง), ภาษาตากใบ (เจ๊ะเห) ภาษาสะกอม, ภาษาอูรักลาโว้ย, ภาษามานิ (ซาไก), ภาษาโคราช (ไทยเบิ้ง), ภาษาพิเทน และภาษาเขมรถิ่นไทย 
    สนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้กล่าวถึงนโยบายการปกป้องคุ้มครองมรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมว่า มุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ในมรดกภูมิปัญญาให้เป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ในการนำไปต่อยอดสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมระดับสูง เชื่อมโยงสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือการผสมผสานสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นและเอกลักษณ์ความเป็นไทย เข้ากับความรู้และเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม ประการต่อมาพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็งโดยสนับสนุนการค้นหาเอกลักษณ์อันโดดเด่นของชุมชน และร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การแต่งกาย การดำเนินชีวิต อาหารการกิน ประเพณีต่างๆ เพื่อปลุกจิตสำนึกให้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญ และเร่งรัด ผลักดันกลไกในการการปกป้องคุ้มครองมรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศสู่ระดับนานาชาติ ตลอดจนสร้างมาตรการการบริหาร หรือกฎหมายเพื่อปกป้องคุ้มครองมรดกทางภูมิปัญญา ส่งเสริมให้มีการเคารพรูปแบบวิถีชีวิตที่มีความแตกต่างหลากหลายซึ่งกันและกัน เพื่อดำรงอยู่ 
    “การประกาศการขึ้นทะเบียนครั้งนี้จึงเป็นมาตรการสำคัญประการหนึ่งที่มุ่งส่งเสริมให้ตระหนักและยกย่องภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ส่งเสริมศักดิ์ศรีของวัฒนธรรมที่มีอยู่ และอัตลักษณ์ของกลุ่มชนที่มีอยู่ในประเทศ เพื่อเกิดความเข้าใจ ยอมรับในความแตกต่างหลากหลายของวัฒนธรรม รวมถึงเป็นการแสดงความเป็นเจ้าของของมรดกภูมิปัญญา นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมการเพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกต่อไปในอนาคต” สนธยากล่าว
    ด้าน อาจารย์ประชุมพร สังข์น้อย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโพธิ์กอง จ.สุรินทร์ ซึ่งตัวแทนผู้รับมอบการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ในสาขาภาษา เผยว่า จากการทำงานวิจัยด้านภาษาเขมรถิ่นไทยใน จ.สุรินทร์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย ทำให้ทราบว่าเด็กในพื้นถิ่นกำลังลืมภาษาในท้องถิ่น หากฟื้นภาษาได้ก็เหมือนฟื้นวัฒนธรรม จึงได้สร้างวัคซีนทางวัฒนธรรมขึ้นมา ให้พวกเขารู้จักตัวตนของตัวเอง โดยได้ร่วมมือกับชุมชนและโรงเรียนจัดทำภาษาโดยจัดทำวิจัยเชิงคุณภาพ “การอนุรักษ์วัฒนธรรมทางภาษาเพื่อพัฒนาหลักสูตรภาษาเขมรถิ่นไทย เพื่อเสริมสร้างภาษาไทย” เหตุที่จัดทำเนื่องจากภาษาเขมรถิ่นไทย หรือ “ภาษาขแมร์” มีแต่คำพูดไม่มีใครบันทึกเป็นอักษร ซึ่งหากจะบันทึกให้เป็นเขมรกัมพูชาไม่สามารถทำได้ เพราะบางคำความหมายต่างกัน เนื่องจากเป็นเขมรอีกกลุ่มหนึ่งที่มีคนใช้มากถึง 1,400,000 คน จึงต้องจัดทำระบบตัวเขียนโดยใช้ระบบพยัญชนะไทยในการเขียนเป็นภาษาเขมรถิ่นไทย จนสามารถออกมาเป็นแบบเรียนและสื่อการเรียนการสอน และพัฒนาเป็นหลักสูตรได้  
    “ดังนั้นเชื่อว่าการได้รับการขึ้นทะเบียนครั้งนี้จะเป็นต้นแบบในการฟื้นภาษาถิ่นในประเทศไทยที่มีมากถึง 70 ภาษา ให้เข้ามาอยู่ในระบบการศึกษา เนื่องจากในอนาคตที่จะก้าวเข้าสู่อาเซียน สะพานเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีคือภาษาถิ่น ที่จะสะท้อนอัตลักษณ์และความเป็นตัวตน ตัวอย่างเช่น เราอยู่ชายแดนเขมร เราควรพูดภาษาถิ่นให้ได้ก่อน แล้วจะเป็นสะพานเชื่อมไปยังภาษาเขมรทางการได้เป็นอย่างดี เป็นต้น หากเด็กรุ่นหลังไม่รู้จักตัวตนของตัวเอง ก็จะทำให้ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง” หัวหน้าทีมวิจัยภาษาเขมรถิ่นไทยกล่าวปิดท้าย.


ที่มา: http://www.thaipost.net/x-cite/040913/78754

No comments: